ประวัติ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยสังเขป

          เมื่อปีพุทธศักราช 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ตั้งวิทยาลัยขึ้นในบริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงพระราชทานนามว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย” เพื่อเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร ทรงอุทิศพระราชทรัพย์บำรุงประจำปีและก่อสร้างสถานศึกษาของมหาวิทยาลัย

          ครั้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดมหามกุฏราชวิทยาลัย พระองค์ทรงอุปถัมภ์ด้วยทรงพระราชทานพระราชทรัพย์บารุงประจำปี อาศัยพระราชประสงค์ดังกล่าวแล้วนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงตั้งพระวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยขึ้น 3 ประการ ดังนี้

  1. 1. เพื่อเป็นสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณร
  2. 2. เพื่อเป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิ และของต่างประเทศ
  3. 3. เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา

          เมื่อกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินแล้วปรากฏว่า พระวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้รับผลเป็นที่น่าพอใจตลอดมา

          เพื่อที่จะให้พระวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้ผลดียิ่งขื้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ในฐานะที่ทรงเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยพระเถรานุเถระ จึงได้ประกาศตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้นโดยอาศัยนามว่า “สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์” โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ

  1. 1. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรม
  2. 2. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิ และต่างประเทศ
  3. 3. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศ และนอกประเทศ
  4. 4. เพื่อให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ และความสามารถในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ ประชาชน
  5. 5. เพื่อให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ และความสามารถในการค้นคว้าโต้ตอบ หรืออภิปรายธรรมได้อย่างกว้างขวางแก่ชาวไทย และชาวต่างประเทศ
  6. 6. เพื่อความเจริญก้าวหน้า และคงอยู่ตลอดกาลนานของพระพุทธศาสนา

          ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า กรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ปัจจุบันเรียกว่า กรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สถาบันแห่งนี้เริ่มเปิดให้มีการอบรมการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบัน

          สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแต่เดิมนั้นตั้งอยู่ที่หอสมุดมหาวิทยาลัยหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าสถานที่แห่งนี้คับแคบขยับขยายได้ยากไม่เพียงพอกับจำนวนพระนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นด้วยเหตุนี้คณะกรรมการจึงดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาหลังหนึ่งภายในวัดบวรนิเวศวิหารเป็นอาคารทรงไทย 3 ชั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมวชิรญาณวงศ์ได้ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 เมื่ออาคารใหม่นี้สร้างสำเร็จแล้วจึงได้ย้ายกิจการของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยจากตึกหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัยมาที่อาคารหลังใหม่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 จนถึงปัจจุบัน

          พ.ศ. 2527 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตราพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศานาให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศานา ตามหลักสูตรศาสนศาสตรบัณฑิต จากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรีเรียกว่า “ศาสนศาสตรบัณฑิต” ให้อักษรย่อว่า “ศน.บ.” พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้สำหรับผู้สำเร็จก่อนวันที่ประกาศให้พระราชบัญูญัตินี้ด้วย

          เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2530 สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย เพื่อจัดการศึกษาในระดับปริญญาโท โดยมี 2 สาขาวิชา คือสาขาวิชา พุทธศาสนนิเทศ และ สาขาวิชา พุทธศาสนาและปรัชญา ได้เปิดทำการสอนในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ผู้สำเร็จการศึกษามีสิทธิ์รับปริญญาศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ให้อักษรย่อว่า “ศน.ม.

          อนึ่ง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2537 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนชื่อสาขาวิชาพุทธศาสนนิเทศ (Buddhist Mission process) เป็น สาขาวิชา พุทธศาสน์ศึกษา (Buddhist studies)

          พ.ศ. 2535 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ได้ประกาศใช้ระเบียบของคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ ว่าด้วยการจัดการศึกษาของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2535

          เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2540 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยแล้ว นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2540 แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2540 (เล่มที่ 114 ตอนที่ 51 ก)

          มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในปัจจุบัน (2551) ประกอบด้วย

          (1) วิทยาเขตตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค รวม 7 แห่ง คือ

  1. 1. วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย (มมร.มวก.) วัดชูจิตธรรมาราม เลขที่ 57 หมู่ที่ 1 ตำบลสนับทึบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13170
  2. 2. วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย (มมร.สธ.) วัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ เลขที่ 26 หมู่ที่ 7 ถนนเพชรเกษม ตำบลออมใหญู่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73160
  3. 3. วิทยาเขตอีสาน (มมร.อส.) เลขที่ 106 ถนนราษฏร์คนึง บ้านโนนชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
  4. 4. วิทยาเขตล้านนา (มมร.ลน.) วัดเจดีย์หลวง เลขที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
  5. 5. วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช (มมร.ศศ.) เลขที่ 169/9 ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
  6. 6. วิทยาเขตร้อยเอ็ด (มมร.รอ.) เลขที่ 148 ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลดงลาน อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด 45000
  7. 7. วิทยาเขตศรีล้านช้าง (มมร.ศช.) วัดศรีสุทธาวาส เลขที่ 253/7 ถนนวิสุทธิเทพ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย 42000

          (2) วิทยาลัย ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค รวม 3 แห่ง คือ

  1. 1. มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย ในสังฆราชูปถัมภ์ เลขที่ 95 หมู่ที่ 7 ตำบลภูหลวง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา 30000
  2. 2. วิทยาลัยศาสนศาสตร์ยโสธร วัดศรีธรรมาราม เลขที่ 1 ถนนวิทยธำรงค์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร 35000
  3. 3. วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000

 

 

ปรัชญาการศึกษา

ของ

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ปรัชญามหาวิทยาลัย

ความเป็นเลิศทางวิชาการตามแนวพระพุทธศาสนา

          มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยมีความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาเป็นปรัชญาชีวิตอันประเสริฐ สามารถช่วยป้องกันแก้ไขและดับปัญหาอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ คือ ความทุกข์ได้สมควรเผยแผ่ให้กว้างขวางออกไปในระดับโลก; พระพุทธศาสนาเป็นมรดกทางปัญญาและทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของไทย ที่ควรถนอมรักษาไว้แม้ด้วยชีวิต; มนุษย์เกิดมาพร้อมกับด้วยศักยภาพที่จะพัฒนาการเรียนรู้ได้ตั้งแต่ระดับรู้จำ (สัญญา) จนถึงขั้นรู้จบ (โพธิ) และ สามารถจะเปลี่ยนแปลงตนเองจากความเป็นปุถุชนไปสู่ความเป็นอริยชนได้ ถ้าได้รับการศึกษาที่ถูกต้อง

          มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มุ่งจะผลิตบุคลากรทางพระพุทธศาสนาที่ประกอบด้วยคุณสมบัติ 5 ประการ คือ มีความรู้ดีทั้งทางธรรมและทางโลกมีความสามารถดีในการคิดเป็น พูดเป็น ทำเป็น มีคุณธรรมและจริยธรรมประจำกาย วาจา ใจ มีอุดมคติ และมีอุดมการณ์ มุ่งอุทิศชีวิตบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านเป็นพุทธบูชา

          มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย มุ่งจัดกระบวนการศึกษาให้ครบวงจรตามหลักพุทธธรรมคือให้มีทั้งปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ในด้านปริยัติ จะช่วยให้นักศึกษาเกิดความรู้ทะลุปรุโปร่งด้วยทิฏฐิ (ทิฏฺฐิยา สุปฎิวิทฺธา) เป็นอย่างต่ำในด้านปฏิบัติจะให้นักศึกษาเกิดประสบการณ์ครบทั้ง 3 คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ในด้านปฏิเวธ จะให้นักศึกษาเกิดสัมมาทิฏฐิ และ อจลสัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นพุทธมามกะชั้นกัลยาณปุถุชนเป็นอย่างต่ำ

 

ความหมายของตราประจำ

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

          พระมหามงกุฏ หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้ทรงเป็นที่มาแห่งนาม “มหามกุฏราชวิทยาลัย”

          พระเกี้ยวประดิษฐานบนหมอนรอง หมายถึง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นผู้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย และพระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงปีละ 60 ชั่ง

          หนังสือ หมายถึง คัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนา โดยมหามกุฏราชวิทยาลัย จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งผลิตคัมภีร์ และตำราทางพระพุทธศาสนาสำหรับส่งเสริมการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา

          ปากกาปากไก่ ดินสอและม้วนกระดาษ หมายถึง อุปกรณ์ในการศึกษาเล่าเรียน ตลอดถึงอุปกรณ์ในการผลิตคัมภีร์และตำราทางพระพุทธศาสนาเพราะมหามกุฏราชวิทยาลัย ทำหน้าที่เป็นทั้งสถานการศึกษาและแหล่งผลิตตำราทาง พระพุทธศาสนา

          ช่อดอกไม้แย้มกลีบ ในทางการศึกษา หมายถึง ความเบ่งบานแห่งสติปัญญาและวิทยาความรู้ในทางพระศาสนา หมายถึง กิตติศัพท์กิตติคุณที่ฟุ้งขจรไปดุจกลิ่นแห่งดอกไม้ ความหมายรวมก็คือ ความเจริญรุ่งเรืองและเกียรติยศชื่อเสียง เกียรติยศ อิสริยยศ บริวารยศ

          พานรองรับหนังสือหรือคัมภีร์ หมายถึง มหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นสถาบันเพื่อความมั่นคงและแพร่หลายของพระพุทธศาสนา ทั้งในด้านการศึกษาและการเผยแผ่

          วงรัศมี หมายถึง ความเจริญรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนา ที่บังเกิดขึ้นจากกิจกรรมของมหามกุฏราชวิทยาลัย ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ไทย

          มหามกุฏราชวิทยาลัย หมายถึง สถาบันการศึกษาของพระสงฆ์ เปิดการศึกษาระดับปริญญาตรี ปัจจุบัน คือมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ 248 ม.1 ถนนศาลายา-นครชัยศรี ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170