ประวัติ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย โดยสังเขป

          เมื่อปีพุทธศักราช 2436 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ตั้งวิทยาลัยขึ้นในบริเวณวัดบวรนิเวศวิหาร ทรงพระราชทานนามว่า “มหามกุฏราชวิทยาลัย” เพื่อเป็นที่ศึกษาเล่าเรียนของพระภิกษุสามเณร ทรงอุทิศพระราชทรัพย์บำรุงประจำปีและก่อสร้างสถานศึกษาของมหาวิทยาลัย
          ครั้นเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเปิดมหามกุฏราชวิทยาลัย พระองค์ทรงอุปถัมภ์ด้วยทรงพระราชทานพระราชทรัพย์บารุงประจำปี อาศัยพระราชประสงค์ดังกล่าวแล้วนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงทรงตั้งพระวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยขึ้น 3 ประการ ดังนี้
  1. 1. เพื่อเป็นสถานศึกษาของพระภิกษุสามเณร
  2. 2. เพื่อเป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิ และของต่างประเทศ
  3. 3. เพื่อเป็นสถานที่เผยแผ่พระพุทธศาสนา
          เมื่อกิจการของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ดำเนินแล้วปรากฏว่า พระวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้รับผลเป็นที่น่าพอใจตลอดมา
          เพื่อที่จะให้พระวัตถุประสงค์เหล่านั้นได้ผลดียิ่งขื้น ดังนั้น เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2488 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ในฐานะที่ทรงเป็นนายกกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยพร้อมด้วยพระเถรานุเถระ จึงได้ประกาศตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงในรูปมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาขึ้นโดยอาศัยนามว่า “สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์” โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ
  1. 1. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาพระปริยัติธรรม
  2. 2. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาวิทยาการอันเป็นของชาติภูมิ และต่างประเทศ
  3. 3. เพื่อให้เป็นสถานศึกษาเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศ และนอกประเทศ
  4. 4. เพื่อให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ และความสามารถในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ ประชาชน
  5. 5. เพื่อให้พระภิกษุสามเณรมีความรู้ และความสามารถในการค้นคว้าโต้ตอบ หรืออภิปรายธรรมได้อย่างกว้างขวางแก่ชาวไทย และชาวต่างประเทศ
  6. 6. เพื่อความเจริญก้าวหน้า และคงอยู่ตลอดกาลนานของพระพุทธศาสนา
          ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า กรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ปัจจุบันเรียกว่า กรรมการสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย สถาบันแห่งนี้เริ่มเปิดให้มีการอบรมการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2489 จนถึงปัจจุบัน
          สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยแต่เดิมนั้นตั้งอยู่ที่หอสมุดมหาวิทยาลัยหน้าวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่าสถานที่แห่งนี้คับแคบขยับขยายได้ยากไม่เพียงพอกับจำนวนพระนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นด้วยเหตุนี้คณะกรรมการจึงดำเนินการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาหลังหนึ่งภายในวัดบวรนิเวศวิหารเป็นอาคารทรงไทย 3 ชั้นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมวชิรญาณวงศ์ได้ทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 เมื่ออาคารใหม่นี้สร้างสำเร็จแล้วจึงได้ย้ายกิจการของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยจากตึกหอสมุดมหามกุฏราชวิทยาลัยมาที่อาคารหลังใหม่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 จนถึงปัจจุบัน
          พ.ศ. 2527 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตราพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศานาให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศานา ตามหลักสูตรศาสนศาสตรบัณฑิต จากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรีเรียกว่า “ศาสนศาสตรบัณฑิต” ให้อักษรย่อว่า “ศน.บ.” พระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้สำหรับผู้สำเร็จก่อนวันที่ประกาศให้พระราชบัญูญัตินี้ด้วย
          เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2530 สภามหาวิทยาลัยอนุมัติให้จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัย เพื่อจัดการศึกษาในระดับปริญญาโท โดยมี 2 สาขาวิชา คือสาขาวิชา พุทธศาสนนิเทศ และ สาขาวิชา พุทธศาสนาและปรัชญา ได้เปิดทำการสอนในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2531 ผู้สำเร็จการศึกษามีสิทธิ์รับปริญญาศาสนศาสตรมหาบัณฑิต ให้อักษรย่อว่า “ศน.ม.
          อนึ่ง ตั้งแต่ปีการศึกษา 2537 เป็นต้นมา ได้เปลี่ยนชื่อสาขาวิชาพุทธศาสนนิเทศ (Buddhist Mission process) เป็น สาขาวิชา พุทธศาสน์ศึกษา (Buddhist studies)
          พ.ศ. 2535 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประธานคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ได้ประกาศใช้ระเบียบของคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ ว่าด้วยการจัดการศึกษาของสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. 2535
          เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2540 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยแล้ว นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2540 แล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2540 (เล่มที่ 114 ตอนที่ 51 ก)
          มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในปัจจุบัน (2551) ประกอบด้วย
          (1) วิทยาเขตตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค รวม 7 แห่ง คือ
  1. 1. วิทยาเขตมหาวชิราลงกรณราชวิทยาลัย (มมร.มวก.) วัดชูจิตธรรมาราม เลขที่ 57 หมู่ที่ 1 ตำบลสนับทึบ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13170
  2. 2. วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย (มมร.สธ.) วัดสิรินธรเทพรัตนาราม ในพระราชูปถัมภ์ เลขที่ 26 หมู่ที่ 7 ถนนเพชรเกษม ตำบลออมใหญู่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73160
  3. 3. วิทยาเขตอีสาน (มมร.อส.) เลขที่ 106 ถนนราษฏร์คนึง บ้านโนนชัย ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น 40000
  4. 4. วิทยาเขตล้านนา (มมร.ลน.) วัดเจดีย์หลวง เลขที่ 103 ถนนพระปกเกล้า ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
  5. 5. วิทยาเขตศรีธรรมาโศกราช (มมร.ศศ.) เลขที่ 169/9 ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
  6. 6. วิทยาเขตร้อยเอ็ด (มมร.รอ.) เลขที่ 148 ถนนเลี่ยงเมือง ตำบลดงลาน อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด 45000
  7. 7. วิทยาเขตศรีล้านช้าง (มมร.ศช.) วัดศรีสุทธาวาส เลขที่ 253/7 ถนนวิสุทธิเทพ ตำบลกุดป่อง อำเภอเมือง จังหวัดเลย 42000
          (2) วิทยาลัย ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค รวม 3 แห่ง คือ
  1. 1. มหาปชาบดีเถรีวิทยาลัย ในสังฆราชูปถัมภ์ เลขที่ 95 หมู่ที่ 7 ตำบลภูหลวง อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา 30000
  2. 2. วิทยาลัยศาสนศาสตร์ยโสธร วัดศรีธรรมาราม เลขที่ 1 ถนนวิทยธำรงค์ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร 35000
  3. 3. วิทยาลัยศาสนศาสตร์เฉลิมพระเกียรติกาฬสินธุ์ ตำบลกาฬสินธุ์ อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ 46000
 
 
ความเป็นมา วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย
เมื่อปี พ.ศ. 2531 พระครูสถิตสีลวัฒน์ (พระอุดมศีลคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบุรณศิริฯ) ได้นำ นางสาวจำรูญ ภูไท และนางจำเริญ ไวทยานุวัติ เข้ากราบทูล น้อมถวายที่ดิน จำนวน 62 ไร่เศษ แด่สมเด็จพระญาณสังวร องค์นายกสภามหามกุฏราชวิทยาลัย พร้อมทั้งโอนโฉนดที่ดินแปลงนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และทางมูลนิธิฯได้มอบที่ดินดังกล่าวให้กับสภาการศึกษา ฯ เพื่อจัดสร้างเป็นวิทยาเขตแห่งที่ 2
          การดำเนินการได้เริ่มขึ้นเมื่อ ประธานกรรมการสภาการศึกษา ฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานให้มีหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และดำเนินการในด้านต่าง ๆ ระยะแรกได้สร้างที่พักชั่วคราวคือกุฏิมุงจาก 3 หลัง และศาลา 1 หลัง มีพระภิกษุและสามเณรมาอยู่ประจำ ตอนแรกชาวบ้านเข้าใจว่าว่าจะมีการสร้างวัดใหม่ จึงเรียกสถานที่นี้ว่า “วัดใหม่คลองแค” และเรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้
          เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2532 สมเด็จพระญาณสังวร ฯ ประธานกรรมการได้มาดูที่ดินที่จะสร้างวิทยาเขตฯ อย่างไม่เป็นทางการ พร้อมด้วยพระเถระระดับผู้บริหารของสภาการศึกษา ฯ มีพระญาณวโรดม เป็นต้น
          11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ เสด็จทรงเททองหล่อพระประธาน สำหรับประดิษฐาน ณ ศาลาเอนกประสงค์ วางศิลาฤกษ์หอฉันและกุฏิ ญสส. และถือวันอันเป็นมงคลนี้ ว่าเป็นวันสถาปนาวิทยาเขต แห่ง นี้
          ประธานกรรมการ สภาการศึกษา ฯ ได้มีคำสั่งที่ 21/2533 ให้จัดตั้งเป็นวิทยาเขตแห่งที่ 2 โดยใช้นามว่า “วิทยาเขตอ้อมน้อย” ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 26 หมู่ที่ 7 ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73160 และมีคำสั่งที่ 19/2534 แต่งตั้งกรรมการบริหาร วิทยาเขตอ้อมน้อย” ขึ้นหนึ่งชุด
          ในปี 2537 วิทยาเขตอ้อมน้อย ได้รับพระราชทานนามใหม่จากสมเด็จเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีว่า “วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานอักษรพระนามาภิไธย “สธ เป็นตราประจำวิทยาเขต และได้รับพระราชทานพุทธภาษิตประจำวิทยาเขตว่า “สิริโภคานมาสโย” แปลว่า “สิริเป็นที่อาศัยแห่งโภคทรัพย์”
          อนึ่งได้พระราชทานพระนามาภิไธยให้เป็นนามของมูลนิธิว่า “มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย” และศูนย์เด็กเล็กว่า “ศูนย์เด็กเล็กวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย” กับทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์
          วิทยาเขตแห่งนี้ตั้งขึ้นมาโดยที่มิได้อาศัยวัดใดวัดหนึ่งเหมือนกับวิทยาเขตแห่งอื่น ๆ จึงต้องสร้างที่พักอาศัยสำหรับอาจารย์เจ้าหน้าที่และนักศึกษา ต่อมาเมื่อมีพระภิกษุสามเณรอยู่ประจำ และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี จึงขอตั้งเป็นวัด กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งวัด เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานนามวัดว่า “วัดสิรินธรเทพรัตนาราม” และทรงรับไว้ ในพระราชูปถัมภ์
          7 ธันวาคม 2537 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย จปร. ประดิษฐานที่หน้าบันอาคารเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
          6 มีนาคม พ.ศ. 2538 ตั้งสาขาวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ สาขา 1 บ้านแพ้ว (ตามคำสั่ง สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยที่ 08/2538 ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2538)
          1 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระประธาน 2 องค์ เป็น พระนาคปรกขนาด 39 นิ้ว กับพระไพรีพินาศ เฉพาะพระเศียรพระนาคปรกนำไปเป็นพระประธาน ณ หอประชุมอาคาร “หอสมุดสิรินธร” พระไพรีพินาศ นำไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางสระน้ำวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย สาขา 1 บ้านแพ้วและทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและอาคารเรียนศูนย์เด็กเล็ก ฯ
          27 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 พระราชทานราชานุญาตให้อันเชิญพระนามาภิไธยเป็นนามของวิทยาเขตสาขาแห่งที่ 1 ว่า “วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย” ในพระราชูปถัมภ์ สาขาบ้านแพ้ว
          2 มิถุนายน พ.ศ. 2541 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เสด็จทรงรับศาลา 84 พรรษา
          9 ตุลาคม พ.ศ. 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสิรินธรเทพรัตนาราม และทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนศูนย์เด็กเล็ก ฯ
          27 สิงหาคม พ.ศ. 2542 พระญาณวโรดม อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารหอพัก 84 ปี
 
การจัดการการบริหาร
          มีรองอธิการบดี เป็นผู้บริหารและเป็นแกนนำในการจัดการบริหารการเรียนการสอน ของวิทยาเขต
สิรินธรราชวิทยาลัย มีการแบ่งสายงานย่อยเป็น 3 ส่วนงาน คือ
 
งานสำนักงานวิทยาเขต
          มีผู้อำนวยการ เป็นผู้กำกับดูแล ดำเนินกิจการตามนโยบายของมหาวิทยาลัยผู้บริหารงบประมาณเพื่อกิจการกองวิทยาเขต บริหารงานบุคคล งานการเงินและบัญชี การติดตามประสานงาน แผนและงบประมาณ ฯ สนับสนุนปรัชญาที่ว่า “บริหารงาน บริหารงบ เพื่อพัฒนาวิทยา
 
งานศูนย์บริการวิชาการ
          มีผู้อำนวยการ คอยกำกับดูแล และรับผิดชอบ มีภารกิจในการให้บริการวิชาการ ประชาสัมพันธ์การวิจัย การเผยแพร่ผลงานการอบรมสัมมนา และข้อมูลสารสนเทศ ดำเนินงานบริการวิชาการแก่ชุมชน ฯ สนับสนุนปรัชญาที่ว่า “บริการวิทยา พัฒนาความรู้ เชิดชูคุณธรรม”
 
งานวิทยาลัยศาสนศาสตร์
          มีผู้อำนวยการคอยกำกับดูแล และรับผิดชอบ มีภารกิจในการจัดการศึกษาตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ส่งเสริมให้อาจารย์มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ โดยให้ตระหนักถึงหน้าที่ ในฐานะความเป็นครู ส่งเสริมพัฒนาการเรียนการสอน และผลิตบัณฑิตออกสู่สังคม การติดตามประเมินผลการศึกษา และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอน ฯ สนับสนุนปรัชญาที่ว่า “คุณธรรมนำหน้า วิทยาเลิศล้ำชี้นำสังคม”
          ในทุก ๆ ส่วนงานจะมีผู้ดูแลรับผิดชอบและประสานงานกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านการศึกษาในแต่ละสาขาวิชามีการขยายทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ระบบประกันคุณภาพการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่กำลังมีการปฏิรูปการศึกษากันอยู่ในขณะนี้
          นอกจากการจัดการ การบริหาร อันเป็นกิจกรรมภายในแล้วยังได้ส่งคณาจารย์ และนักศึกษาออกไปอบรมศีลธรรม จริยธรรมให้กับนักเรียน นักศึกษาข้าราชการ ประชาชน ตามสถานศึกษา ตามหน่วยงานราชการ และชุมชนต่าง ๆ เช่น จัดให้มีโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนให้กับเยาวชน นักเรียนนักศึกษา โครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั้งหมด 11 จังหวัด และมีโครงการเข้าค่ายคุณธรรมตามสถานศึกษาต่าง ๆ ทั้งในบริเวณพื้นที่ วิทยาเขต ฯ และในเขตหลาย ๆ จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ