ความเป็นมา

วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย

          เมื่อปี พ.ศ. 2531 พระครูสถิตสีลวัฒน์ (พระอุดมศีลคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบุรณศิริฯ) ได้นำ นางสาวจำรูญ ภูไท และนางจำเริญ ไวทยานุวัติ เข้ากราบทูล น้อมถวายที่ดิน จำนวน 62 ไร่เศษ แด่สมเด็จพระญาณสังวร องค์นายกสภามหามกุฏราชวิทยาลัย พร้อมทั้งโอนโฉนดที่ดินแปลงนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และทางมูลนิธิฯได้มอบที่ดินดังกล่าวให้กับสภาการศึกษา ฯ เพื่อจัดสร้างเป็นวิทยาเขตแห่งที่ 2

          การดำเนินการได้เริ่มขึ้นเมื่อ ประธานกรรมการสภาการศึกษา ฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานให้มีหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และดำเนินการในด้านต่าง ๆ ระยะแรกได้สร้างที่พักชั่วคราวคือกุฏิมุงจาก 3 หลัง และศาลา 1 หลัง มีพระภิกษุและสามเณรมาอยู่ประจำ ตอนแรกชาวบ้านเข้าใจว่าว่าจะมีการสร้างวัดใหม่ จึงเรียกสถานที่นี้ว่า “วัดใหม่คลองแค” และเรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้

          เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2532 สมเด็จพระญาณสังวร ฯ ประธานกรรมการได้มาดูที่ดินที่จะสร้างวิทยาเขตฯ อย่างไม่เป็นทางการ พร้อมด้วยพระเถระระดับผู้บริหารของสภาการศึกษา ฯ มีพระญาณวโรดม เป็นต้น

          11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2533 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ เสด็จทรงเททองหล่อพระประธาน สำหรับประดิษฐาน ณ ศาลาเอนกประสงค์ วางศิลาฤกษ์หอฉันและกุฏิ ญสส. และถือวันอันเป็นมงคลนี้ ว่าเป็นวันสถาปนาวิทยาเขต แห่ง นี้

          ประธานกรรมการ สภาการศึกษา ฯ ได้มีคำสั่งที่ 21/2533 ให้จัดตั้งเป็นวิทยาเขตแห่งที่ 2 โดยใช้นามว่า “วิทยาเขตอ้อมน้อย” ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 26 หมู่ที่ 7 ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม 73160 และมีคำสั่งที่ 19/2534 แต่งตั้งกรรมการบริหาร วิทยาเขตอ้อมน้อย” ขึ้นหนึ่งชุด

          ในปี 2537 วิทยาเขตอ้อมน้อย ได้รับพระราชทานนามใหม่จากสมเด็จเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีว่า “วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานอักษรพระนามาภิไธย “สธ เป็นตราประจำวิทยาเขต และได้รับพระราชทานพุทธภาษิตประจำวิทยาเขตว่า “สิริโภคานมาสโย” แปลว่า “สิริเป็นที่อาศัยแห่งโภคทรัพย์”

          อนึ่งได้พระราชทานพระนามาภิไธยให้เป็นนามของมูลนิธิว่า “มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย” และศูนย์เด็กเล็กว่า “ศูนย์เด็กเล็กวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย” กับทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์

          วิทยาเขตแห่งนี้ตั้งขึ้นมาโดยที่มิได้อาศัยวัดใดวัดหนึ่งเหมือนกับวิทยาเขตแห่งอื่น ๆ จึงต้องสร้างที่พักอาศัยสำหรับอาจารย์เจ้าหน้าที่และนักศึกษา ต่อมาเมื่อมีพระภิกษุสามเณรอยู่ประจำ และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี จึงขอตั้งเป็นวัด กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งวัด เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานนามวัดว่า “วัดสิรินธรเทพรัตนาราม” และทรงรับไว้ ในพระราชูปถัมภ์

          7 ธันวาคม 2537 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย จปร. ประดิษฐานที่หน้าบันอาคารเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

          6 มีนาคม พ.ศ. 2538 ตั้งสาขาวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ สาขา 1 บ้านแพ้ว (ตามคำสั่ง สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยที่ 08/2538 ลงวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2538)

          1 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระประธาน 2 องค์ เป็น พระนาคปรกขนาด 39 นิ้ว กับพระไพรีพินาศ เฉพาะพระเศียรพระนาคปรกนำไปเป็นพระประธาน ณ หอประชุมอาคาร “หอสมุดสิรินธร” พระไพรีพินาศ นำไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางสระน้ำวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย สาขา 1 บ้านแพ้วและทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและอาคารเรียนศูนย์เด็กเล็ก ฯ

          27 พฤษภาคม พ.ศ. 2539 พระราชทานราชานุญาตให้อันเชิญพระนามาภิไธยเป็นนามของวิทยาเขตสาขาแห่งที่ 1 ว่า “วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย” ในพระราชูปถัมภ์ สาขาบ้านแพ้ว

          2 มิถุนายน พ.ศ. 2541 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เสด็จทรงรับศาลา 84 พรรษา

          9 ตุลาคม พ.ศ. 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสิรินธรเทพรัตนาราม และทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนศูนย์เด็กเล็ก ฯ

          27 สิงหาคม พ.ศ. 2542 พระญาณวโรดม อุปนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารหอพัก 84 ปี

 

การจัดการการบริหาร

          มีรองอธิการบดี เป็นผู้บริหารและเป็นแกนนำในการจัดการบริหารการเรียนการสอน ของวิทยาเขต

สิรินธรราชวิทยาลัย มีการแบ่งสายงานย่อยเป็น 3 ส่วนงาน คือ

 

งานสำนักงานวิทยาเขต

          มีผู้อำนวยการ เป็นผู้กำกับดูแล ดำเนินกิจการตามนโยบายของมหาวิทยาลัยผู้บริหารงบประมาณเพื่อกิจการกองวิทยาเขต บริหารงานบุคคล งานการเงินและบัญชี การติดตามประสานงาน แผนและงบประมาณ ฯ สนับสนุนปรัชญาที่ว่า “บริหารงาน บริหารงบ เพื่อพัฒนาวิทยา

 

งานศูนย์บริการวิชาการ

          มีผู้อำนวยการ คอยกำกับดูแล และรับผิดชอบ มีภารกิจในการให้บริการวิชาการ ประชาสัมพันธ์การวิจัย การเผยแพร่ผลงานการอบรมสัมมนา และข้อมูลสารสนเทศ ดำเนินงานบริการวิชาการแก่ชุมชน ฯ สนับสนุนปรัชญาที่ว่า “บริการวิทยา พัฒนาความรู้ เชิดชูคุณธรรม”

 

งานวิทยาลัยศาสนศาสตร์

          มีผู้อำนวยการคอยกำกับดูแล และรับผิดชอบ มีภารกิจในการจัดการศึกษาตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ส่งเสริมให้อาจารย์มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ โดยให้ตระหนักถึงหน้าที่ ในฐานะความเป็นครู ส่งเสริมพัฒนาการเรียนการสอน และผลิตบัณฑิตออกสู่สังคม การติดตามประเมินผลการศึกษา และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอน ฯ สนับสนุนปรัชญาที่ว่า “คุณธรรมนำหน้า วิทยาเลิศล้ำชี้นำสังคม”

          ในทุก ๆ ส่วนงานจะมีผู้ดูแลรับผิดชอบและประสานงานกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านการศึกษาในแต่ละสาขาวิชามีการขยายทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ระบบประกันคุณภาพการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่กำลังมีการปฏิรูปการศึกษากันอยู่ในขณะนี้

          นอกจากการจัดการ การบริหาร อันเป็นกิจกรรมภายในแล้วยังได้ส่งคณาจารย์ และนักศึกษาออกไปอบรมศีลธรรม จริยธรรมให้กับนักเรียน นักศึกษาข้าราชการ ประชาชน ตามสถานศึกษา ตามหน่วยงานราชการ และชุมชนต่าง ๆ เช่น จัดให้มีโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนให้กับเยาวชน นักเรียนนักศึกษา โครงการครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั้งหมด 11 จังหวัด และมีโครงการเข้าค่ายคุณธรรมตามสถานศึกษาต่าง ๆ ทั้งในบริเวณพื้นที่ วิทยาเขต ฯ และในเขตหลาย ๆ จังหวัด ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ