ประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย

วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาในกำกับดูแลของรัฐ เป็นวิทยาเขตแห่งที่ ๒ ของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ตั้งอยู่เลขที่ ๒๖ หมู่ที่ ๗ ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม มีการดำเนินการทั้งในการก่อสร้างและการบริหาร ดังนี้

๑. การก่อสร้าง
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ พระครูสถิตสีลวัฒน์ (พระอุดมศีลคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบุรณศิริฯ) ได้นำ นางสาวจำรูญ ภูไท และนางจำเริญ ไวทยานุวัติ เข้ากราบทูลน้อมถวายที่ดิน จำนวน ๖๒ ไร่เศษ แด่สมเด็จพระญาณสังวร องค์นายกสภามหามกุฏราชวิทยาลัย พร้อมทั้งโอนโฉนดที่ดินแปลงนี้ให้เป็นกรรมสิทธิ์ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และทางมูลนิธิฯ ได้มอบที่ดินดังกล่าวให้กับสภาการศึกษาฯ เพื่อจัดสร้างเป็นวิทยาเขตแห่งที่ ๒ การดำเนินการได้เริ่มขึ้นเมื่อประธานกรรมการสภาการศึกษาฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานให้มีหน้าที่เป็นผู้ดำเนิน การก่อสร้าง และดำเนินการในด้านต่าง ๆ ระยะแรกได้สร้างที่พักชั่วคราวคือกุฏิมุงจาก ๓ หลัง และศาลา ๑ หลัง มีพระภิกษุและสามเณรมาอยู่ประจำ ตอนแรกชาวบ้านเข้าใจว่าจะมีการสร้างวัดใหม่ จึงเรียกสถานที่นี้ว่า “วัดใหม่คลองแค” และเรียกกันมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๒ สมเด็จพระญาณสังวรฯ ประธานกรรมการได้มาดูที่ ดินที่จะสร้างวิทยาเขตฯ อย่างไม่เป็นทางการ พร้อมด้วยพระเถระระดับผู้บริหารของสภาการศึกษาฯ มีพระญาณวโรดม เป็นต้น

๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๓ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ เสด็จทรงเททองหล่อพระประธาน สำหรับประดิษฐาน ณ ศาลาเอนกประสงค์ วางศิลาฤกษ์หอฉันและกุฏิ ญสส. และถือวันอันเป็นมงคลนี้ ว่าเป็นวันสถาปนาวิทยาเขตแห่งนี้
ประธานกรรมการ สภาการศึกษาฯ ได้มีคำสั่งที่ ๒๑/๒๕๓๓ ให้จัดตั้งเป็นวิทยาเขตแห่งที่ ๒ โดยใช้นามว่า “วิทยาเขตอ้อมน้อย” ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ ๒๖ หมู่ที่ ๗ ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม และมีคำสั่งที่ ๑๙/๒๕๓๔ แต่งตั้งกรรมการบริหาร “วิทยาเขตอ้อมน้อย” ขึ้นหนึ่งชุด

ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ วิทยาเขตอ้อมน้อย ได้รับพระราชทานนามใหม่จากสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า “วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์” พร้อมทั้งพระราชทานอักษรพระนามาภิไธย “สธ” เป็นตราประจำวิทยาเขต และได้รับพระราชทานพุทธภาษิตประจำวิทยาเขตว่า “สิริ โภคานมาสโย” แปลว่า “สิริเป็นที่อาศัยแห่งโภคทรัพย์” อนึ่งได้พระราชทานพระนามาภิไธยให้เป็นนามของมูลนิธิว่า “มูลนิธิสิรินธรราชวิทยาลัย” และศูนย์เด็กเล็กว่า “ศูนย์เด็กเล็กวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย” กับทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์
วิทยาเขตแห่งนี้ตั้งขึ้นมาโดยที่มิได้อาศัยวัดใดวัดหนึ่งเหมือนกับวิทยาเขตแห่งอื่น ๆ จึงต้องสร้างที่พักอาศัยสำหรับอาจารย์เจ้าหน้าที่และนักศึกษา ต่อมาเมื่อมีพระภิกษุสามเณรอยู่ประจำ และเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี จึงขอตั้งเป็นวัด กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้งวัด เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามวัดว่า “วัดสิรินธรเทพรัตนาราม” และทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์

 

๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย จปร. ประดิษฐานที่หน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว

๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ ตั้งสาขาวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ สาขา ๑ บ้านแพ้ว (ตามคำสั่ง สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ที่ ๐๘/๒๕๓๘ ลงวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๘)

๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเททองหล่อพระประธาน

๒ องค์ เป็นพระนาคปรกขนาด ๓๙ นิ้ว กับพระไพรีพินาศ เฉพาะพระเศียร พระนาคปรกนำไปเป็นพระประธาน ณ หอประชุมอาคาร “หอสมุดสิรินธร” พระไพรีพินาศ นำไปประดิษฐาน ณ ศาลากลางสระน้ำวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัยสาขา ๑ บ้านแพ้ว และทรงเปิดอาคารเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและอาคารเรียนศูนย์เด็กเล็กฯ

๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๙ พระราชทานราชานุญาตให้อันเชิญพระนามาภิไธยเป็นนามของวิทยาเขตสาขาแห่งที่ ๑ ว่า “วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย” ในพระราชูปถัมภ์ สาขาบ้านแพ้ว

๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๑ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จทรงรับศาลา ๘๔ พรรษา

๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดสิรินธรเทพรัตนาราม และทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนศูนย์เด็กเล็กฯ

๒๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ พระญาณวโรดม อุปนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารหอพัก ๘๔ ปี
๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ วันครบสถาปนา มมร.สธ.๑๕ ปี สมเด็จพระญาณวโรดม อุปนายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธานรับอาคารหอพัก ๘๔ ปี พระญาณวโรดม

๒. การบริหาร
มีรองอธิการบดี เป็นผู้บริหารและเป็นแกนนำในการจัดการบริหาร การเรียนการสอน ของวิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย มีการแบ่งสายงานย่อยเป็น ๓ ส่วนงาน คือ

๒.๑ งานสำนักงานวิทยาเขตฯ
มีผู้อำนวยการ เป็นผู้กำกับดูแล ดำเนินกิจการตามนโยบายของมหาวิทยาลัย บริหารงบประมาณเพื่อกิจการของวิทยาเขต บริหารงานบุคคล งานการเงินและบัญชี การติดตามประสานงาน แผนและงบประมาณฯ สนับสนุนปรัชญาที่ว่า “บริหารงาน บริหารงบ เพื่อพัฒนาวิทยา”

๒.๒ งานศูนย์บริการวิชาการ
มีผู้อำนวยการ คอยกำกับดูแลและรับผิดชอบ มีภารกิจในการให้ริการวิชาการประชา สัมพันธ์ การวิจัย การเผยแพร่ผลงานการอบรมสัมมนาและข้อมูลสารสนเทศ ดำเนินงานบริการวิชาการแก่ชุมชนฯสนับสนุนปรัชญาที่ว่า “บริการวิทยา พัฒนาความรู้ เชิดชูคุณธรรม”
มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย ในพระราชูปถัมภ์ เป็นสถาบันการศึกษาในกำกับของรัฐ เปิดสอนหลักสูตรศาสนศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรรายวิชาชีพครู จึงมีความจำเป็นจะต้องมีห้องสมุด เพื่อเป็นแหล่งการศึกษาและค้นคว้าสรรพวิชาตำราวิชาการต่าง ๆ อันเป็นชุมทางแห่งความรู้แก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของมหาวิทยาลัย จึงได้มีการก่อตั้งห้องสมุดขึ้น ตามลำดับ คือ พ.ศ. ๒๕๓๕ เริ่มก่อตั้งห้องสมุดและดำเนินงานมาควบคู่กับการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย ซึ่งขณะนั้นตั้งอยู่ที่ชั้นสองอาคารเรียน จปร.

พ.ศ. ๒๕๓๙ ได้ก่อสร้างอาคารห้องสมุดหลังใหม่ เป็นอาคารทรงไทย ๔ ชั้น ขนาด ๙x๔๑ เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และได้รับพระราชทานนามว่า “ห้องสมุดสิรินธร”
พ.ศ. ๒๕๔๔ ย้ายห้องสมุดจากอาคารเรียน จปร. มาอยู่ที่อาคารห้องสมุดสิรินธร ปัจจุบันให้บริการอยู่ชั้นสองของอาคาร และจะขยายให้เต็มทั้งสี่ชั้นในอนาคตนับตั้งแต่ย้ายห้องสมุดมาที่อาคารห้องสมุดสิรินธร ได้มีการขยายห้องสมุด พร้อมทั้งพัฒนาระบบการจัดเก็บหนังสือและการบริการให้ได้มาตรฐาน มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยจัดเก็บและค้นคว้า และจะพัฒนาระบบให้สามารถเชื่อมโยงกับห้องสมุดอื่น ๆ ได้ในโอกาสต่อไป

 

๒.๓ งานวิทยาลัยศาสนสาสตร์
มีผู้อำนวยการ คอยกำกับดูแลและรับผิดชอบ มีภารกิจในการจัดการศึกษาตามนโยบายของมหาวิทยาลัย ส่งเสริมให้อาจารย์มีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ โดยให้ตระหนักถึงหน้าที่ ในฐานะความเป็นครู ส่งเสริมพัฒนาการเรียนการสอน และผลิตบัณฑิตออกสู่สังคม การติดตามประเมินผลการศึกษา และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอนฯ สนับสนุนปรัชญาที่ว่า “คุณธรรมนำหน้า วิทยาเลิศล้ำ ชี้นำสังคม”
ในทุก ๆ ส่วนงานจะมีผู้ดูแลรับผิดชอบและประสานงานกันอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านการศึกษาในแต่ละสาขาวิชามีการขยายทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ระบบประกันคุณภาพการศึกษา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ และที่กำลังมีการปฏิรูปการศึกษากันอยู่ในขณะนี้ นอกจากการจัดการ การบริหารอันเป็นกิจกรรมภายในแล้วยังได้ส่งคณาจารย์ และนักศึกษาออกไปอบรมศีลธรรม จริยธรรมให้กับนักเรียน นักศึกษา ข้าราชการ ประชาชน ตามสถานศึกษา ตามหน่วยงานราชการและชุมชนต่างๆ เช่น จัดให้มีโครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนให้กับเยาวชน นักเรียน นักศึกษา มีโครงการเข้าค่ายคุณธรรมตามสถานศึกษาต่าง ๆ ทั้งในบริเวณพื้นที่วิทยาเขตฯ และในเขตหลาย ๆ จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
การดำเนินงานของวิทยาเขตที่ผ่านมามีผลสัมฤทธิ์ทางด้านการบริหารและการศึกษา พอสรุปได้ดังนี้
เปิดการเรียนการสอนคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ดังนี้

ปีการศึกษา ๒๕๓๕ คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชา สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ปีการศึกษา ๒๕๓๘ คณะศาสนาและปรัชญา สาขาวิชา พุทธศาสตร์
ปีการศึกษา ๒๕๔๐ ศึกษาศาสตร์ สาขาวิชา ภาษาอังกฤษ

 

ปีการศึกษา ๒๕๔๔ คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชา รัฐศาสตร์การปกครอง
การสอนศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะและสาขาวิชาต่าง ๆ
ปีการศึกษา ๒๕๔๘ เปิด ๒ คณะ ๒ สาขาวิชาคือ
๑. คณะศาสนาและปรัชญา สาขาวิชา พุทธศาสน์ศึกษา
๒. คณะสังคมศาสตร์ สาขาวิชา รัฐศาสตร์การปกครอง

ปัจจุบันเปิดสอน ๓ สาขาวิชาด้วยกันคือ

๑. คณะศาสนาและปรัชญา หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชา พุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา (ศศ.บ.)
๒. คณะสังคมศาสตร์ หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาการปกครอง (ร.บ.)
๓ คณะศึกษาศาสตร์ หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ (ศษ.บ.)

นับจากอตีดจนถึงปัจจุบัน ปีนี้เป็นปีที่  ๓๐ ดังนั้น มมร วิทยาเขตสิรินราชวิทยาลัย จึงได้มีการจัดงานสถาปนาขึ้นในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ของทุกปี

การบำเพ็ญกุศลครบรอบ ๓๐ ปี วันสถาปนา มมร วิทยาเขตสิรินธรราชวิทยาลัย อาคารเฉลิมพระเกียรติ (จปร.) ชั้น ๑ เลขที่ ๒๖ หมู่ ๗ ตำบลอ้อมใหญ่ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม วันอังคารที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๓

เวลา ๐๗.๓๐ น. คณาจารย์/เจ้าหน้าที่ /นักศึกษา/ศิษยานุศิษย์พร้อมกันที่ห้องประชุม อาคารเฉลิมพระเกียรติ

เวลา ๐๙.๓๐ น. ทอดถวายผ้าป่าเพื่อการศึกษา

เวลา ๑๐.๑๕ น. พระราชสารสุธี รักษาการเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย

พระสงฆ์ ๑๐ รูป มาติกาบังสุกุล และเจริญพระพุทธมนต์

นักศึกษาได้รับทุนการศึกษา

ผศ.ดร.ภาษิต สุขวรรณดี ผู้ช่วยอธิการบดี กล่าวถวายรายงานและขานชื่อผู้เข้ารับเกียรติบัตร ในฐานะผู้ทำคุณประโยชน์และนักศึกษาที่ได้รับการยกย่อง

 

 

 

เวลารับประทานอาหาร