ประวัติความเป็นมาธรรมศึกษา

ธรรมศึกษาตรี

การศึกษานักธรรมในครั้งนั้น เป็นที่นิยมและเป็นที่ยกย่องทั้งในวงการคณะสงฆ์และในทางราชการ ผู้ที่สอบได้ประโยคนักธรรม เมื่อลาสิกขาออกไป ก็สามารถรับราชการเป็นครูสอนตามโรงเรียนต่างๆ เมื่อมีการสอบเลื่อนวิทยฐานะครู ผู้สอบได้ประโยคนักธรรมก็ได้รับสิทธิพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องสอบ ๑ ชุดวิชา เพราะประโยคนักธรรมชั้นตรีจัดเป็นชุดวิชาหนึ่งสำหรับการเลื่อนวิทยฐานะ

 

ต่อมาคณะสงฆ์ในสมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พิจารณาเห็นว่า การศึกษานักธรรมก็เป็นประโยชน์แม้แก่ผู้ที่มิใช่ภิกษุสามเณร โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการครู ดังนั้น คณะสงฆ์จึงอนุญาตให้ครูทั้งหญิงและชายเข้าสอบประดยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวงได้ โดยได้ตั้งหลักสูตรประโยคนักธรรมสำหรับฆราวาส เรียกว่า “ธรรมศึกษาตรี” ซึ่งประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวิชาวินัยบัญญัติ ใช้เบญจศีล เบญจธรรม และอุโบสถศีลแทน

 

ธรรมศึกษาตรี เปิดสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ ปรากฏว่ามีฆราวาสทั้งชายและหญิงสมัครสอบกันเป็นจำนวนมาก

ธรรมศึกษาโท

เมื่อเห็นว่าฆราวาสสนใจศึกษาและสมัครสอบธรรมศึกษาตรีกันเป็นจำนวนมาก ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ คณะสงฆ์จึงได้จัดตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาโทขึ้น เพื่อเป็นการขยายการศึกษานักธรรมสำหรับฆราวาสให้กว้างขวางและแพร่หลายยิ่งขึ้น อันเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาทางหนึ่ง หลักสูตรธรรมศึกษาโทประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือธรรมวิภาค อนุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นโทสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติธรรมศึกษาโทสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓

ธรรมศึกษาเอก

พ.ศ. ๒๔๗๘ คณะสงฆ์ได้ตั้งหลักสูตรธรรมศึกษาเอกและอนุญาตให้ฆราวาสสอบได้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็นต้นไป (แถลงการณ์คณะสงฆ์ เล่ม ๒๓ อ้างใน รายงานเรื่องศึกษาของคณะสงฆ์ไทย. (เอกสารโรเนียวเย็บเล่ม). ฝ่ายวิจัย กองแผนงาน กรมศาสนา, พ.ศ. ๒๕๑๖. หน้า ๒๓.) หลักสูตรนักธรรมชั้นเอกก็ประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบ ๓ วิชา คือ ธรรมวิภาค พุทธานุพุทธประวัติ และเรียงความแก้กระทู้ธรรม เช่นเดียวกับหลักสูตรนักธรรมชั้นเอกสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวินัยบัญญัติ

การศึกษานักธรรม อันเป็นการศึกษาพระพุทธศาสนา หรือธรรมวินัยในภาษาไทย ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระดำริตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ นั้น ได้พัฒนามาโดยลำดับ ทั้งในด้าหลักสูตร การเรียนและการสอน เพื่อให้ภิกษุสามเณรมีความรู้ในธรรมวินัย ตลอดถึงความเป็นมาของพระพุทธศาสนาอย่างทั่วถึง พอแก่การที่จะเป็นศาสนทายาทที่มีคุณภาพ สามารถดำรงพระศาสนาไว้ได้ด้วยดี การศึกษานักธรรมได้เป็นที่นิยมนับถือของคณะสงฆ์และได้รับการจัดให้เป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานของภิกษุสามเณรในประเทศไทยควบคู่ไปกับการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีนับแต่เริ่มต้นมาจนบัดนี้ การศึกษานักธรรมที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯได้ทรงตั้งขึ้นนี้ จึงนับว่ามีคุณประโยชน์ต่อการพระศาสนาในประเทศไทยเป็นอย่างมาก

 

นอกจากนี้ การศึกษานักธรรมยังได้แผ่ประโยชน์ไปยังพุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสด้วย ดังที่ฆราวาสจำนวนมากก็สนใจศึกษาและสอบธรรมศึกษากันเป็นจำนวนมากตลอดมาดังที่กล่าวแล้ว การที่พุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสได้มีโอกาสเรียนรู้ธรรมวินัย นับว่ามีประโยชน์ต่อการที่จะช่วยส่งเสริมและดำรงรักษาพระศาสนาให้เจริญมั่นคงได้ทางหนึ่ง

 

พัดนักธรรม

 

เมื่อแรกตั้งนักธรรมชั้นตรีขึ้นนั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้โปรดให้ทำพัดรอง มีตราคณะสงฆ์ (ตราธรรมจักร) ประทานแก่ผู้สอบนักธรรมชั้นตรีได้ เพื่อเป็นการยกย่องนักธรรม ครั้นการสอบนักธรรมแพร่หลายไป มีผู้สอบนักธรรมชั้นตรีได้มากขึ้น ผู้ได้รับประทานพัดนักธรรมไม่รู้สึกว่าเป็นเกียรติยศ จึงไม่ค่อยนิยมถือกัน

 

ถึง พ.ศ.๒๔๖๐ หลังจากตั้งนักธรรมมาได้ ๖ ปี สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ จึงทรงพระดำริจัดเรื่องพัดนักธรรมใหม่ คือพัดนักธรรมไม่ประทานแก่ผู้สอบได้ทั่วไป ทังนักธรรมชั้นตรี และนักธรรมชั้นโท แต่พระราชทานเฉพาะที่มีพรรษาพ้น ๕ แล้ว และมีหน้าที่ทางการพระศาสนา เช่น เป็นครูสอน เป็นต้น และทรงกำหนดให้พระนักธรรมถือพัดนักธรรมในพิธีทางราชการ เช่นเดียวกับพระมีฐานันดรถือพัดยศ

 

ถึง พ.ศ.๒๔๖๓ ทรงจัดระเบียบเรื่องพัดยศเปรียญและพัดนักธรรมอีกครั้งหนึ่ง สำหรับพัดนักธรรมนั้น เลิกประทานพัดนักธรรมชั้นตรี เพราะส่วนใหญ่สอบเลื่อนเป็นนักธรรมชั้นโทแล้ว ส่วนพระนักธรรมชั้นตรีที่ไม่สอบเลื่อนเป็นนักธรรมชั้นโท และมีหน้าที่ทางการพระศาสนา ยังคงได้รับประทานอยู่ ส่วนพัดนักธรรมชั้นโทนั้น ก็ประทานเฉพาะแก่ผู้สอบได้นักธรรมชั้นโท ที่มีพรรษาพ้น ๕ แล้ว สำหรับผู้ที่สอบได้แต่พรรษายังไม่ถึง ๕ ต้องรอจนกว่าพรรษาครบ ๕ แล้ว จึงจะได้รับประทานพัด

 

การสอบนักธรรมชั้นโทในระยะแรก มารวมสอบในสนามหลวง กรุงเทพฯ เพราะยังมีจำนวนผู้สอบไม่มากและส่วนใหญ่อยู่กรุงเทพฯ หรือในปริมณฑลใกล้เคียง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๕ เป็นต้นไป สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ได้ทรงประกาศให้จัดสอบนักธรรมชั้นโทในสนามต่างจังหวัดได้ โดยใช้ข้อสอบของสนามหลวง และสอบในวันเวลาเดียวกันกับสนามหลวงในกรุงเทพฯ จึงเรียกติดปากกันมาถึงทุกวันนี้ว่า” สอบธรรมสนามหลวง”

การสอบธรรมสนามหลวงนั้น ทั่วทั้งประเทศ สอบวัน  เดือน  ปี และเวลาเดียวกันพร้อมกันทั้งประเทศ ตั้งแต่่รับข้อสอบผ่านระบบเน็ตเวิร์ค เริ่มทำข้อสอบ   หมดเวลาทำข้อสอบ ทั้งนี้ให้ยึดประกาศขอแม่กองธรรมสนามหลวงเป็นเกณฑ์

สำหรับปีนี้แม่กองธรรมมีประกาศ วันสอบธรรมสนามหลวง ๒๕๖๒
นักธรรมชั้นตรี สอบวันที่ ๗ – ๑๐ ตุลาคม ๒๕๖๒
นักธรรมชั้นโท-เอก สอบวันที่ ๑๓ – ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
ธรรมศึกษา สอบวันศุกร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
ธรรมศึกษา (สำหรับ กศน.) สอบวันเสาร์ที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

สนามสอบวัดสิรินธรเทพรัตนาราม สอบวันศุกร์ที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ สำหรับธรรมศึกษา

ในปี ๒๕๖๒ นี้ มีธรรมศึกษารวมทุกช่วงชั้น ๖๔๓ คน แบ่งเป็น ระดับประถมศึกษา ๕๐๕ คน มัธยมศึกษา ๔๘ คน และอุดมศึกษา ๙๐ คน

เวลา ๐๘.๑๕ น. พระครูพิพัฒน์ศรีราจาร (ดิรก ปริสุทฺโธ) เุจ้าอาวาสวัดสิรินธรเทพรัตนาราม เป็นประธานในพิธีสอบธรรมสนามหลวง

เวลา ๐๘.๓๐ น. เริ่มสอบวิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม หมดเวลา ๑๑.๓๐ น.

เวลา ๑๓.๐๐ น. เริ่มสอบวิชาธรรม พุทธประวัติ และวินัย สิ้นสุดเวลา ๖.๐๐ น.